วิกฤตการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมแห่งมนุษยชาติ
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กรุงปอร์โตแปรงซ์ ประเทศเฮติ นักธรณีวิทยาและวิศวกรโครงสร้างจากหลายชาติได้เข้าสำรวจความเสียหายของภัยพิบัติที่ส่งผลให้ประชาชนกว่าสองแสนคนเสียชีวิตและกว่าหนึ่งล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย หน้าที่สำคัญของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ คือ การหาสาเหตุที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนถล่มทับซ้อนลงมาเป็นชั้นต่อชั้น หรือที่เรียกว่า "การยุบตัวแบบแพนเค้ก" และได้ข้อสันนิษฐานว่า ร้อยละ 90 ของสาเหตุการเสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวนี้ เกิดจากการถล่มของอาคารที่สร้างอย่างไม่เหมาะสม
เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นที่ลอสแองเจลิส ในปี 1994 ส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวอย่างจริงจังเพื่อออกแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดในการป้องกันแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นอีก นั้นคือที่มาของแนวคิดการสร้างอาคารรักษาชีวิต (Life Savers) ซึ่งเป็นต้นแบบของอาคารที่สามารถรองรับ ดูดซับ และผ่อนถ่ายแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ โดยอาศัยเทคนิคการเชื่อมต่อและยึดมุมต่างๆ ระหว่างเสาและพื้น
ห่างจากลอสแองเจลิส และเฮติ มาที่จังหวัดปัตตานีของประเทศไทย ครูและนักเรียนอาชีวะกลุ่มหนึ่งได้ช่วยกันออกแบบและผลิตหมวกกันน็อกและเสื้อเกราะกันกระสุน โดยทดลองใช้กระสุนจริงยิงทดสอบความทนทาน หมวกกันน็อกนี้ทำด้วยเหล็กที่หนักกว่า 2 กิโลกรัม แต่ความหนักดูจะไม่ใช่ปัญหา เมื่อถนนที่ใช้สัญจรไปมานั้นเต็มไปด้วยอันตราย
ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต แต่โลกที่ขัดแย้งจากปัญหาเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง และภัยพิบัติจากธรรมชาติ ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้คนเราคิดค้นกลวิธี และพยายามหาคำตอบที่ช่วยกอบกู้หรือบรรเทาความเสียหายจากวิกฤตการณ์ต่างๆ
แม้ว่าเราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติ หรือยุติความขัดแย้งที่มีมาเนิ่นนานได้ แต่อย่างน้อยที่สุด เมื่อคุณอ่านนิตยสารเล่มนี้จบลง คุณอาจเห็นว่า มนุษย์เราได้ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วนั้นเอง
< หน้าหลัก / หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ / คิด ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2553 >
คิด ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2553
เนื้อหาอย่างย่อ
หมวด: -สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)