< หน้าหลัก / หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ / คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 7 เมษายน 2557 >

คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 7 เมษายน 2557

คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 7 เมษายน 2557

เนื้อหาอย่างย่อ

ริ้วรอยแห่งสติปัญญา
ที่บ้านดงยาง จังหวัดยโสธร ความร้อนและความแห้งแล้งไม่ได้เป็นอุปสรรคของผืนนากว่า 20 ไร่ที่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ด้วยวิธีคิดและการลงมือทำอย่างจริงจังของ เอี่ยม สมเพ็ง ชาวนาวัย 68 ปีที่ต่อสู้กับธรรมชาติและสารเคมีมากว่า 20 ปี ก่อนจะพลิกผืนนาด้วยแนวเกษตรอินทรีย์
การต่อสู้กับภูมิอากาศของอีสานนั้นไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากการเฝ้าสังเกตและประมวลผล เพราะตั้งแต่ปี 2536-2556 ลุงเอี่ยมได้บันทึกวันที่ฝนตกทุกวันแล้วนำมาทำเป็นกราฟแบบง่ายๆ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และนำไปสู่การกำหนดวันหว่านข้าวหอมมะลิในแต่ละปีการคำนวณปริมาณฝนไม่ใช่ปัจจัยเดียว ลุงเอี่ยมยังได้คิดระบบชลประทานย่อมๆ ด้วยการขุดสระน้ำ แต่ก็ต้องพบกับต้นทุนค่าน้ำมันของเครื่องสูบน้ำ ดังนั้น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาจึงได้ทดลองประดิษฐ์กังหันลมที่นำวัสดุอุปกรณ์เท่าที่หาได้ ทั้งสังกะสี พลาสติก ป้ายโฆษณา เหล็กแกนกลางล้อจักรยานมาลองผิดลองถูกจนได้กังหันลมที่มีต้นทุน 3,000 บาทมาไว้สูบน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตข้าวที่เคยได้ 5-6 ตันจากการใช้ปุ๋ยเคมีบนผืนนา 23 ไร่ ก็เปลี่ยนเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 10-15 ตัน จากพื้นที่ 11 ไร่ และอีก 6 ไร่เปลี่ยนเป็นพืชผักหมุนเวียนกว่าร้อยชนิดที่ส่งขายได้ทุกวัน เก็บรายได้วันละกว่าพันบาท ทุกวันนี้ ลุงเอี่ยมกับผืนนาและกังหันลมของเขาได้รับความสนใจจากชาวนาในจังหวัดอื่น โดยมีองค์กรของรัฐและเอกชนเข้ามาเรียนรู้ถึงตัวอย่างของการใช้สติปัญญาและประสบการณ์เอาชนะความแล้งของผืนดิน


หมวด: -สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)