ผลผลิตจากโลกคู่ขนาน
มนุษย์มีความชาญฉลาดที่จะหล่อเลี้ยงความหวังเอาไว้ใช้ในยามขาดแคลนเสมอ ทั้งความหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่าหรือความหวังที่อาจไม่มีอยู่จริงในรูปแบบของจินตนาการ และยังชาญฉลาดต่อไปด้วยการสร้างองค์ประกอบรอบๆตัวเพื่อถ่ายเทจินตนาการสู่ชีวิตจริง บนความเป็นไปไม่ได้หรือปรากฏการณ์เหนือคำอธิบายที่น่าสนเท่ห์นั้น ซึ่งเป็นต้นทุนอันมีเสน่ห์สำหรับการขยายผลไปสู่เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอุดมคติทางความรักที่เป็นนิรันดร์
แต่เมื่อกลับมาดูโลกที่เป็นชีวิตจริง เพื่อตามหาเหตุผลของสัมพันธภาพที่จะนำไปสู่ความรักที่ยั่งยืนนั้น แจ็คกี้ แกบบ์ (Jacqui Gabb) และเจเน็ต ฟิงก์ (Janet Fink) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอเพ่น (The Open University) ในสหราชอาณาจักร จึงจัดทำโครงการ Enduring Love?: Couple Relationships in the 21st Century เพราะในทุกความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนั้นย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสังคมที่เป็นสุขและช่วยลดทอนปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ตามมาอีกนับไม่ถ้วน การวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจคู่รัก 5,445 คนทั้งชายหญิงและกลุ่มรักร่วมเพศ จนนำไปสู่ข้อสรุปที่ชี้ให้เห็นปัจจัยที่จะสร้างหรือบั่นทอนความสัมพันธ์ ซึ่งผลได้บ่งชี้ถึงตัวแปรของความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ว่าปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์ยุติลง ทั้งเรื่องความไม่แน่นอนทางการเงิน การว่างงาน ที่อยู่อาศัย และการเป็นพ่อแม่ ขณะที่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนนั้นเกิดจากความเชื่อมั่นที่ยึดเหนี่ยวในสิ่งเดียวกัน ความนับถือซึ่งกันและกัน การสื่อสารที่ดี และการมีอารมณ์ขันร่วมกัน โดยสิ่งที่พวกเขาปรารถนาที่จะได้รับจากกันไม่ใช่เรื่องทางกามารมณ์หรือของขวัญราคาแพง ยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบากด้วยแล้ว สิ่งที่จะช่วยเพิ่มความยั่งยืนในความสัมพันธ์ก็คือการกระทำที่แสดงต่อกันอย่างเสียสละและมีน้ำใจ
< หน้าหลัก / หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ / คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 >
คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557
เนื้อหาอย่างย่อ
หมวด: -สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)