< หน้าหลัก / หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ / คิด ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2553 >

คิด ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2553

คิด ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2553

เนื้อหาอย่างย่อ

Design for Happiness
ความสุขนั้นเป็นเรื่องของประสาทสัมผัส ผู้คนจึงมักพบว่าตัวเองกำลังดิ้นรนให้ได้มาซึ่งสภาพแวดล้อมที่พึงใจเสมอ และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการสถาปนาสังคมสวัสดิการแห่งความสุข ทุกสังคมจึงผลิตนักออกแบบความสุขขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เกิดจากอัจฉริยภาพส่วนบุคคล หรือจากความกดดันของสังคมก็ตามที
แน่นอนว่าความสุขนำมาซึ่งผลผลิตอันน่าชื่นใจของทุกสังคม เพราะนั่นเป็นผลจากการมองโลกในแง่ดี การแบ่งปัน มุมมองที่เปิดกว้าง และความคิดสร้างสรรค์ แต่กว่าจะได้มาซึ่งอารมณ์แห่งความปีติทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นักมนุษยวิทยา นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักออกแบบ กระทั่งนักการตลาด ต้องตีความและสังเคราะห์ที่มาที่ไปของอารมณ์แห่งความปีติ เพื่อหาหนทางที่จะสร้างทฤษฎี คำตอบทางพฤติกรรม ตลอดจนการผลิตปัจจัยสี่ที่สนองความต้องการของอารมณ์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนเมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยของ Antonio Damasio นักประสาทวิทยาชาวลิสบอน ที่ระบุว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้เรามีอารมณ์เป็นสุขนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานเหลือเกิน เพียงแค่เราได้กลิ่นหอมก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นร้อยละ 75 ได้ยินเสียงไพเราะช่วยกระตุ้นความสุนทรีย์ได้ร้อยละ 65 ได้เห็นภาพสวยๆ ช่วยได้ร้อยละ 46 ได้รับสัมผัสอบอุ่นช่วยให้เกิดความพึงใจร้อยละ 29 และได้ลิ้มลองรสชาติที่ถูกลิ้นช่วยได้ร้อยละ 23
ความสุขจึงเป็นเรื่องหาได้ง่ายกว่าที่คิด แต่ก็ยังไม่ทำให้คนเราพึงพอใจอยู่นั่นเอง เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นสุขดูจะเป็นเรื่องที่ต้องทำความตกลงกันให้ได้ระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ในสมองของมุนษย์ ในจุดนี้เองที่นักสร้างสรรค์หรือนักออกแบบก้าวเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสรรหาความสุขในรูปแบบเชิงสัมผัส ทั้งความดึงดูดใจ ความสอดคล้องกับธรรมชาติ และความคุ้มราคา ว่ากันว่าในการออกแบบที่ประสบความสำเร็จนั้นจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างความจำเป็นที่มาจากสมองส่วนเหตุผล และความต้องการที่มาจากอารมณ์ได้ และย่อมส่งผลให้การออกแบบนั้นสร้างความสุขได้อย่างแท้จริง
ท่ามกลางห้วงเวลาของเทศกาลแห่งความสุข เราหวังว่าอารมณ์และเหตุผลของคุณจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการออกแบบความสุขที่คุณกำลังมองหา


หมวด: -สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)