< หน้าหลัก / หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ / คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2557 >

คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2557

คิด ปีที่ 5 ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2557

เนื้อหาอย่างย่อ

Something Better, Something Bitter
7 กรกฎาคม 2005 การก่อการร้ายใจกลางลอนดอนได้สร้างความหวาดกลัวจนกลายเป็นฝันร้ายของชาวอังกฤษ และนำมาซึ่งมาตรการที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมืองให้ดำเนินต่อไปอย่างปกติสุข แม้ว่าลอนดอนจะเคยรับมือกับคำข่มขู่และการวางระเบิดจากกลุ่มกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (IRA) มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่การก่อการร้ายครั้งนี้ก็ส่งผลรุนแรงต่อทั้งชีวิตและจิตใจ จนนำไปสู่การขยายผลโครงการ "ริง ออฟ สตีล (Ring of Steel)" ที่เดิมมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อตรวจตรา จดบันทึก และสืบค้นการเข้าออกของพาหนะที่เข้าสู่เขตนครลอนดอน (City of London) ให้รัดกุมและเข้มงวดมากขึ้น
ปราการป้องกันเขตเมืองเพื่อความปลอดภัยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนครลอนดอนนั้นตั้งอยู่บนผังเมืองเก่าที่ชาวโรมันได้ออกแบบและสร้างกำแพงเมืองโดยแบ่งออกเป็นชั้นๆ เพื่อคุ้มกันสินค้าและปกป้องศูนย์กลางของเมือง ต่อมาในทศวรรษ 1990 เขตเมืองลอนดอนก็ยังคงยึดหลักการป้องกันศูนย์กลางเขตพาณิชย์ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เป็นเป้าหมายในการก่อการร้ายด้วยวิธีเดียวกันคือการใช้กำแพงริง ออฟ สตีลนี้ป้องกัน ก่อนที่โครงการจะถูกปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองไปพร้อมกันในปี 2003 ด้วยระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ทันสมัยผ่านกล้องวงจรปิด และการวางผังควบคุมการเข้าออกเมืองให้เหลือเพียง 19 แห่งจากเดิมที่มีหลายร้อยเส้นทาง ด้วยการใช้แนวกั้นถนนที่เหมาะกับภูมิทัศน์ เช่น แนวต้นไม้ แปลงดอกไม้ คอนกรีตเสริมเหล็ก และมาตรการทางภาษี อันเป็นแนวคิดชาญฉลาดที่มาพร้อมกับการลดภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่หลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 7/7 ปี 2005 ความเข้มข้นของมาตรการก็สูงขึ้น เสาไฟควบคุมการจราจรด้านบนได้ถูกออกแบบให้เป็นไฟส่องสว่าง มีกล้องติดตั้งอยู่ระดับกลางเพื่อบันทึกภาพใบหน้าบุคคล และกล้องล่างสุดใช้ถ่ายเลขทะเบียนรถ ทั้งหมดเพื่อแกะรอยว่า ใครขับรถคันไหนเข้ามาในเขตลอนดอน ซึ่งประมาณว่าต้องใช้กล้องสำหรับเขตเมืองราวๆ 11,000 ตัว และน่าจะมีถึง 2.4 ล้านตัวทั่วสหราชอาณาจักรซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก และชาวอังกฤษต้องถูกถ่ายภาพด้วยกล้องเหล่านี้มากถึงวันละ 300 ครั้ง


หมวด: -สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)